วงเสวนา ชี้ 6 รบ.คอร์รัปชันเลวร้ายมาตลอด บิ๊กตู่ แก้คนเดียวไม่ได้
 


วงเสวนา ชี้ 6 รบ.คอร์รัปชันเลวร้ายมาตลอด บิ๊กตู่ แก้คนเดียวไม่ได้


วงเสวนา ชี้ 6 รบ.คอร์รัปชันเลวร้ายมาตลอด บิ๊กตู่ แก้คนเดียวไม่ได้

วงเสวนา ชี้คอร์รัปชันเกิดจากผูกขาดโดยอำนาจรัฐ เลวร้ายตลอด 6 รบ.เป็นต้นเหตุทำให้ ศก.อ่อนแอ ระบุบิ๊กตู่ จุดประกาย แต่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ พบ 6 เดือน ยังไม่ถึงครึ่งทาง จากองค์กรอิสระมีปัญหาการตรวจสอบ และสื่อถูกแทรกแซงทางอ้อม...

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย จัดเสวนาในหัวข้อ ”เกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันใน รัฐบาลประยุทธ์” โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการนโยบายและกำกับดูและรัฐวิสาหกิจ นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันพัฒนาเพื่อประเทศไทย นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย นายธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเพื่อประเทศไทย

นายบรรยง กล่าวว่า รัฐบาลทุกยุคทุกประเทศต่างประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งสิ้น แต่คำถามคือทำไมการคอร์รัปชันยังมากขึ้นเรื่อยๆ การต่อต้านคอร์รัปชันถือเป็นวาระแห่งชาติ การที่จะลดคอร์รัปชันได้นั้นไม่ได้อยู่ที่ความตั้งใจหรือคำประกาศ แต่ต้องมีกระบวนการพร้อมกับความอดทน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเป็นภัยร้ายแรง ทำให้ประเทศติดกับ

สำหรับประเทศไทยมีคอร์รัปชันอยู่ทุกหย่อมหญ้า แบ่งได้ 4 พวก คือ 1.โกงเงินจากรัฐโดยตรงเอาไปเป็นของตนเอง 2.โกงโดยที่รับจากประชาชนให้เพื่อต้องการความสะดวก 3.กลุ่มที่ซื้อหาความยุติธรรม และ 4.ภาคเอกชนที่ไม่ต้องการการแข่งขันแต่ต้องการการล็อกสเปก

“การมองคอร์รัปชันสามารถมองได้หลายมุม เช่น คอร์รัปชันเกิดจากอำนาจผูกขาดโดยอำนาจรัฐ เนื่องจากรัฐมีอำนาจในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร เก็บภาษี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐไทยขยายตัวไปมากเช่นเดียวกับงบประมาณแผ่นดิน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรราชการ ซึ่งเรากำลังสวนทางกับโลก เพราะทั้งโลกพยายามลดบทบาทอำนาจรัฐ ผมขอตั้งข้อสังเกต เวลาที่ออกกฎหมาย จำเป็นต้องให้อำนาจรัฐ หลายๆ ครั้ง อำนาจที่ติดไปกับกฎหมายสามารถนำไปเป็นสินค้าได้ กฎหมายยิ่งมากอำนาจก็ยิ่งมาก”

ทั้งนี้ กระบวนการใหม่ที่สามารถใช้ได้ผลในโลกคือ 1. ความโปร่งใส บังคับให้รัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างไร้เงื่อนไขและเปิดในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ประชาชนสามารถติดตามได้โดยสะดวก 2. ความเชี่ยวชาญ ต้องมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพอ เพื่อตามดูข้อมูลเหล่านั้น มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้สามารถติดตามดูแลได้ และ 3. การมีส่วนร่วม หากประชาชนตระหนักถึงคอร์รัปชันว่าจะส่งผลกับตนเองอย่างไร

“การปฏิรูปนั้นต้องมีผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมทั้งหมด คุณประยุทธ์ อาจเป็นผู้จุดประกายแต่คงไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เราเคยได้รับฉายาว่า miracle of asia แต่ตอนนี้ กลับกลายเป็น sick man of asia ที่สื่อตั้งประเทศตั้งฉายาให้ เนื่องจากการคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่สุด บิดเบือนไปทุกอย่าง ทำให้ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอลงและมีส่วนสำคัญในการแตกแยกในสังคม”

ขณะที่นายธิปไตย กล่าวถึงการสำรวจระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 57 ถึง 17 มี.ค. 58 ว่า ยังไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ในเรื่องของการ ควบคุมดุลพินิจ ควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน ควบคุมอำนาจผูกขาด เพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมคอร์รัปชัน ก้าวหน้าเฉลี่ยเพียงแค่ 33 % ในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งความเป็นอิสระขององค์กรอิสระในการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) องค์กรป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีข้อบกพร่องหลักที่พบคือ งบประมาณและบุคลากร ไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบ ความเป็นอิสระมีปัญหาเรื่องการดำเนินงาน ในส่วนของ สตง.มีปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องเปิดเผยแก่ประชาชนภายใต้กรอบระยะเวลาเท่าใด องค์กรอิสระเหล่านี้ต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

“ตัวบทกฎหมายของเราได้ รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ของโลกซึ่งสวนทางกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีปัญหาหลักที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจเพียงพอ แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่ผู้มีสิทธิ์เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐดันขึ้นกับสำนักนายกฯ จึงทำให้ไม่เป็นอิสระในการทำงาน รวมถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อ ปัจจุบันเป็นการแทรงแซงทางอ้อม คือการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องใช้อย่างโปร่งใส มีการควบคุม ไม่ใช่ทำเป็น งบลับ และควรมีองค์กรที่กำกับดูแลสื่อที่เป็นอิสระ รวมทั้งให้แต่ละสำนักข่าวมีบุคลากรที่ตรวจสอบจริยธรรมของตนเอง”

นายมานะ กล่าวว่า จากการประเมินของต่างประเทศ สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยเลวร้ายมาโดยตลอด 6 รัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล้วนแต่มีนโยบายการกำจัดคอร์รัปชันในรูปแบบนามธรรม มติ ครม.ที่เกี่ยวกับความโปร่งใส เป็นการรับรองข้อเสนอหรือมติของหน่วยงานราชการโดยทั่วไป จึงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมารัฐพยายามขยายบทบาทของตนเองมาโดยตลอด โดยอ้างว่าเพื่อการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐมี 2 ชนิดคือ 1. ดึงเงินออกจากภาครัฐโดยตรง 2. ดึงเงินจากกระเป๋าประชาชน

“เมื่อประชาชนไปติดต่อหน่วยงานราชการ ต้องมีการจ่ายสินบนเพื่อความสะดวกภายใต้กฎระเบียบที่ยุ่งยาก เช่นในต่างจังหวัดบางพื้นที่ ประชาชนต้องการให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็น เพื่อจดแจ้งว่าตนเป็นประชาชนในบ้านก็ต้องจ่ายค่าสินบน หรือการกู้ กยศ.ต้องมีคนเซ็นรับรองฐานะของครอบครัว แสดงให้เห็นอำนาจเรื่องดุลพินิจเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชัน รวมถึงการคอร์รัปชันเชิงนโยบายโดยรัฐ เพื่อนำเอาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหา ใหญ่คือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”

ขณะที่ น.ส.เดือนเด่น กล่าวว่า โครงสร้างสำนักแข่งขันทางการค้าต้องเป็นอิสระจากการเมือง แต่ประเทศไทยมี รมต.คลัง นั่งเป็นประธาน จากปีที่ผ่านมาบริษัทที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นเสียส่วนมาก รวมถึงบริษัทในเครือ เช่น ปตท. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในต่างประเทศ บริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่มีรัฐวิสาหกิจเลย แม้รัฐธรรมนูญ 2540 มีการระบุไว้ว่าให้สร้างองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคแต่ก็ยังไม่ได้ตั้งเสียที ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค เพียงแต่สนใจในการผลักดันธุรกิจเพียงอย่างเดียว.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.