นายกฯเบรกคลัง ปรับใหม่ ภาษีบ้านและที่ดิน (ชมคลิป)
 


นายกฯเบรกคลัง ปรับใหม่ ภาษีบ้านและที่ดิน (ชมคลิป)


นายกฯเบรกคลัง ปรับใหม่ ภาษีบ้านและที่ดิน (ชมคลิป)

เศรษฐกิจฟุบสังคมไม่พร้อม ‘ลุงหมาย’ถอย-ไปศึกษาเพิ่ม 38 อดีตส.ว.ฉลุยสนช.ไม่สอย

สนช.โหวต “ไม่สอย” 38 อดีต ส.ว.แก้ รธน.โดยมิชอบ “พรเพชร” เร่งแจ้งผลการลงมติต่อ ป.ป.ช.ทันที “วิชัย” ขอน้อมรับมติโดยดุษณี ป.ป.ช.ฟันอีก 250 อดีต ส.ส.แก้ที่มา ส.ว.มิชอบ ชงเล่นอาญา 3 ราย สปช. สายเพื่อไทยติดร่างแหไปหนึ่ง “บิ๊กตู่” สั่งเบรก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างไม่มีกำหนด ชี้เรายังไม่ค่อยพร้อม สังคมขัดแย้ง ศก.โลก-ศก.เรายังฟุบ บี้คลังไปรื้อโครงสร้างใหม่ต้องไม่สร้างภาระประชาชน “ลุงหมาย” ไม่ดื้อบอกก็ดีเหมือนกัน งานในมือเยอะอยู่แล้ว

กรณีการถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ล่าสุด ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ลงมติถอดถอนเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ส่งผลให้ อดีต ส.ว.รอดทั้งหมด

สนช.เปิดฉากวาระสอยอดีต 38 ส.ว.

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาการลงมติถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ โดยนายสุรชัยแจ้งที่ประชุมว่า จะใช้วิธีลงคะแนนลับในคูหา ซึ่งบัตรลงคะแนนจะมี 2 ช่องคือ ถอดถอน กับไม่ถอดถอน ให้สมาชิกกาเครื่องหมายกากบาทเพียงอย่างเดียว หากไม่ลงคะแนนทั้ง 2 ช่องถือว่าไม่ประสงค์ลงคะแนน ทั้งนี้ ผู้ถูกถอดถอนจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมด หรือ 132 เสียงขึ้นไป

แจกบัตรสี่สีโหวตตามความผิด

สำหรับขั้นตอนลงคะแนน มีการแจกบัตรลงคะแนนให้สมาชิกคนละ 4 ใบ เพื่อลงคะแนนเป็นรายบุคคล โดยแยกฐานความผิดเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก เป็นบัตรสีฟ้า ซึ่งมีพฤติการณ์ลงมติ วาระ 3 เพียงอย่างเดียว มีผู้ถูกกล่าวหา 2 คน ได้แก่ นางภารดี จงสุขธนามณี อดีต ส.ว.เชียงราย และ พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีต ส.ว.พะเยา

กลุ่มสอง บัตรสีส้ม มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1, 2 และ 3 มีผู้ถูกกล่าวหา 22 คน ได้แก่ นายประสิทธิ์ โพธสุธน อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี นายสมชาติ พรรณพัฒน์ อดีต ส.ว.นครปฐม พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ว.เลย นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี นายประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีต ส.ว.มหาสารคาม นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีต ส.ว.อุดรธานี นายภิญโญ สายนุ้ย อดีต ส.ว.กระบี่ นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ว.ปทุมธานี นายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีต ส.ว.นครราชสีมา พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีต ส.ว.กาญจนบุรี นายพีระ มานะทัศน์ อดีต ส.ว.ลำปาง นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีต ส.ว.ชลบุรี นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีต ส.ว.สมุทรสาคร นายรักพงษ์ ณ อุบล อดีต ส.ว.หนองบัวลำภู นายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว.อำนาจเจริญ นายจตุรงค์ ธีระกนก อดีต ส.ว.ร้อยเอ็ด นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต ส.ว.เชียงใหม่

ปิดห้องเงียบงดถ่ายทอดทีวี–วิทยุ

กลุ่มสาม บัตรสีขาว มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 1 และ 3 มีผู้ถูกกล่าวหา 13 คน คือ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ อดีต ส.ว.ขอนแก่น นายโสภณ ศรีมาเหล็ก อดีต ส.ว.น่าน นายต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีต ส.ว.ยะลา พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ อดีต ส.ว.อ่างทอง นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีต ส.ว.สกลนคร พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี นาย สุโข วุฑฒิโชติ อดีต ส.ว.สมุทรปราการ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ นายสุริยา ปันจอร์ อดีต ส.ว.สตูล นายถนอม ส่งเสริม อดีต ส.ว.อุบลราชธานี นายบุญส่ง โควาวิสารัช อดีต ส.ว.แม่ฮ่องสอน และนายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.ลพบุรี และกลุ่มสี่ บัตรสีเขียว มีพฤติการณ์ลงมติวาระ 2 อย่าง เดียว มีผู้ถูกกล่าวหา 1 คนคือ นายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม

ทั้งนี้ ก่อนลงคะแนน ที่ประชุม สนช.ได้นับจำนวนสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุม มีสมาชิก สนช. แสดงตัวเป็นองค์ประชุมทั้งหมด 204 คน ขณะที่นายสุรชัยได้ให้สื่อมวลชน ช่างภาพ ออกนอกห้อง ประชุม และสั่งงดการถ่ายทอดการกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์ในช่วงการลงคะแนน

สนช.เทโหวตทะลัก “ไม่ถอดถอน”

ภายหลังการลงคะแนนและนับคะแนนร่วม 4 ชั่วโมง ผลการลงคะแนนทั้ง 4 กลุ่ม ปรากฏว่าที่ ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน โดยกลุ่มแรก จำนวน 2 คน คือนางภารดี จงสุขธนามณี มีมติไม่ถอดถอนด้วยคะแนน 166-35 เสียง งดออกเสียง 7 พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน มีมติไม่ถอดถอน 164-35 เสียง งดออกเสียง 9

ส่วนกลุ่มที่สอง จำนวน 22 คน และกลุ่ม 3 จำนวน 13 คน สนช.มีมติไม่ถอดถอนเช่นกัน ขณะที่ กลุ่ม 4 มี 1 คน คือนายวิทยา อินาลา มีมติไม่ถอด ถอน 139-66 งดออกเสียง 3

จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม แจ้งว่า จะ แจ้งผลการลงมติไม่ถอดถอน 38 ส.ว.ไปยัง ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 38 ส.ว.ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการ ครม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป

ป.ป.ช.ขอน้อมรับมติ สนช.

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.น้อมรับมติดังกล่าว ถือว่า สนช.มีอิสระในการออกเสียง แม้ สนช.จะลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว. แต่ถือเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. และการพิจารณาของสนช. เป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการถ่วงดุลอำนาจและคานอำนาจเสียงข้างมากทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ เพราะการพัฒนาประชาธิปไตยตลอด 8 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยด้านเดียวคือ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งหรือเสียงข้างมาก แต่การเหนี่ยวรั้งเสียงข้างมากไม่ให้ใช้อำนาจ บาตรใหญ่ และการคุ้มครองเสียงข้างน้อยก็ถือเป็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยเช่นกัน ดังนั้นกระบวนการถอดถอนอดีต ส.ว.กรณีนี้ จึงเป็นการให้การเรียนรู้แก่คนไทยในสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตย

ฟันอีก 250 อดีต ส.ส.แก้ที่มา ส.ว.มิชอบ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี มีการ ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนเรื่องการถอดถอนอดีต ส.ส. 258 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ภายหลังการประชุม นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินการถอดถอนอดีต ส.ส.250 คน แบ่งความผิดเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กรณีการเข้าเชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วม ลงมติวาระ 1 วาระ 2 มาตรา 6 และวาระ 3 จำนวน 239 คน 2.กรณีการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติในวาระ 2 มาตรา 6 และวาระ 3 จำนวน 1 คน 3.กรณีการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมลงมติวาระ 1 และวาระ 3 ซึ่งทั้ง 3 กรณี ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่ามีมูลความผิดฐาน ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 จึงมีมติให้ดำเนินการส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณาดำเนินการถอดถอนต่อไปภายใน 15 วัน

“อุดมเดช–คมเดช–นริศร” โดนอาญา

นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือนั้น ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย และลงมติเฉพาะวาระ 1 เพียงอย่างเดียว แต่ ไม่ลงมติในวาระ 2 และ 3 จำนวน 2 คน ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป ขณะเดียวกัน ยังมีอดีต ส.ส.อีก 3 คนที่เสียชีวิตในระหว่างการไต่สวนคดีได้แก่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข และนายสมพล เกยุราพันธุ์ มีผลทำให้ความผิดเป็นอันระงับไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ และยังมีกรณีนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่มีพฤติการณ์นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ไปใช้แทนร่างฉบับเดิม โดยไม่ถูกต้อง นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางอาญาด้วย โดยให้แยกเรื่องออกมาดำเนินการไปพร้อมกับคดีถอดถอนให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ จากการไต่สวนข้อ เท็จจริง ป.ป.ช.ยังพบว่านายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์สงสัยว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย กรณีการเสียบบัตรแทนกัน จึงให้ดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อเอาผิดทางอาญาต่อไป ทั้งนี้ อดีต ส.ส. 250 คน ที่ ป.ป.ช.มีมติถอดถอน แม้รัฐธรรมนูญปี 50 จะสิ้น ผลไปแล้ว แต่ ป.ป.ช.ยังมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังมีผลบังคับใช้อยู่

สปช.สายเพื่อไทยติดร่างแห 1 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวนอดีต ส.ส. 250 ราย ที่ถูก ป.ป.ช.ลงมติถอดถอนครั้งนี้นั้น มีชื่อ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมอยู่ด้วย ส่วนรายชื่ออดีต ส.ส. 2 รายที่ ป.ป.ช.เห็นว่าไม่มีมูลความผิด เนื่องจากลงมติในวาระ 1 เพียงอย่างเดียวคือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา

พท.อ้างคดี “ขุนค้อน–นิคม” สู้

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ระบุภายหลังทราบมติ ป.ป.ช.ว่า ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะ ป.ป.ช.ให้ข่าวในลักษณะมีธงมาตลอดว่าต้องดำเนินการกับ ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่หาความผิดเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆให้ ส.ส.เช่นตนเอง หลังจากนี้คงต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงและต่อสู้ว่าดำเนินการตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญรวมถึงประเพณีปฏิบัติ ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเข้าสู่การพิจารณาไม่ใช่ร่างปลอม แต่เป็นร่างที่ปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีต ส.ว.ได้ชี้แจงครบถ้วนแล้ว จึงมั่นใจว่าตนเองทำถูกต้อง ส่วนกระบวนการวินิจฉัย ตัดสิน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ซึ่งหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ด้านนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูก ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาประเด็นเสียบบัตรแทนกัน ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าต่อสู้คดีตามข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้เสียบบัตรแทนใคร เป็นการเสียบบัตรให้ตัวเองเท่านั้น โดยมีหลักฐานเป็นบันทึกการแสดงตัวต่อที่ประชุมในวันดังกล่าว

ไม่ทำประชามติ รธน.-ลต.มี.ค.59

ทางด้านความคืบหน้าเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดีหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้สมาชิกได้รับทราบถึงผลการหารือร่วมกับแม่น้ำ 5 สาย ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนจะตั้งขอสังเกตบางประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งได้ชี้แจงให้ได้รับทราบว่า หากรัฐธรรมนูญนำขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 4 ก.ย. และมีผลบังคับใช้โดยไม่มีการทำประชามติขั้นตอนต่อจากนั้นภายใน 60 วันต้องจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับให้แล้วเสร็จ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน และเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกภายใน 30 วัน รวมเวลา 180 วัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 59 ดังนั้น ไม่ใช่เป็นการอยู่ยาวถึง 8 เดือน เพื่อสืบทอดอำนาจตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

นำร่างฯเข้า สปช.ถก 7 วันรวด

นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่าสำหรับการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. พิจารณา ซึ่งตามกำหนดจะเป็นวันที่ 17 เม.ย. โดยตนได้หารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. แล้วเห็นว่าควรส่งร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้สมาชิก สปช. ไปพิจารณาโดยภาพรวมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อน จากนั้นจะมีการนัดประชุม สปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20-26 เม.ย. ทั้งนี้ เท่าที่หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เบื้องต้น สนช.จะงดประชุม สนช. ในช่วงสัปดาห์ที่ สปช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

“กกต.-กสม.-ผู้ตรวจการฯ” ถก กมธ.

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารการเลือกตั้ง และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ารับฟังการชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเข้าชี้แจงและแสดงความคิดเห็นทีละหน่วยงาน ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 8 มีนางนรีวรรณ จินตกานนท์ รอง ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานประชุม

“สมชัย” ยัน กกต.ต้องแจกใบแดง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง แถลงภายหลังเข้าชี้แจงว่า ความเห็นร่วม กกต. ทั้ง 5 คน ยืนยันการมอบอำนาจให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จัดการเลือกตั้ง นำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่เป็นกลาง เพราะเป็นไปได้ว่าปลัดกระทรวง อาจถูกนักการเมืองครอบงำ ให้ตั้งคนของตัวเองเป็น กจต. หากเป็นไปได้ไม่จำเป็นต้องมี แต่หากให้มีต้องปรับวิธีการได้มา ให้ปลัดกระทรวงทั้ง 7 เสนอชื่อผู้ที่จะเป็น กจต.มาที่กกต. กระทรวงละ 3 รายชื่อ กกต.เลือกเพียงหนึ่งเดียว และ กกต.ต้องมีอำนาจปลด กจต.ได้ด้วย หากมีร้องทุจริต เมื่อถามว่า ได้เสนอความเห็นยกเลิกให้ กกต.มีอำนาจแจกใบแดงหรือไม่ นายสมชัย ตอบว่า กกต.ไม่หวงอำนาจ แต่ยืนยัน กกต.ยังจำเป็นต้องมีอำนาจแจกใบแดง หาก กกต.มีอำนาจให้แค่ใบเหลือง นักการเมืองไม่เกรงกลัว ยังคงมีทุนมาซื้อเสียง และจากสถิติผู้ที่โดนใบเหลือง กลับมาชนะเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

กสม.ยังค้านควบรวมผู้ตรวจการฯ

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม. แถลงว่า เข้าให้ข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารการทำงาน กสม.ใน 3 ประเด็นที่ไม่สามารถควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินได้ คือ 1.กสม.ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานหน่วยงานรัฐและเอกชน ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีที่ไทยเข้าร่วม หน้าที่และการบริหารต่างกันควบรวมไม่ได้ 2.กสม.ทำหน้าที่เสนอนโยบายและกฎหมาย แต่ผู้ตรวจการฯไม่ได้ทำหน้าที่ในลักษณะนี้ 3.กสม.มีหน้าที่ทำให้สังคมดำเนินการตามแผน และให้การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ถ้าควบรวมจะกระทบการพิทักษ์สิทธิให้กับประชาชนได้ โดยคณะอนุฯจะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 60 วัน และหลังวันที่ 25 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯจะทบทวนประมวลความเห็นจากแม่น้ำอีก 4 สายและหน่วยงานอื่นๆ

พท.ปลื้ม “บิ๊กตู่” เปิดทางทบทวน รธน.

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ดีใจที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะเปิดกว้างให้ทบทวนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ อยากขอให้ดูภาพรวมรัฐธรรมนูญว่าทำอย่างไรจะให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพราะหากรัฐธรรมนูญออกมาในรูปแบบนี้ จะส่งผลให้มีพรรคเล็ก พรรคน้อย และกลุ่มการเมืองจำนวนมาก ประกอบกับการใช้ระบบเลือกตั้งผสมแบบเยอรมัน ทำให้เกิดปัญหาการต่อรอง ท้ายที่สุดนายกฯจะไม่มีภาวะผู้นำ การผ่านกฎหมายสำคัญแต่ละฉบับจะลำบาก เพราะต้องต่อรองผลประโยชน์กันสูง สำหรับการได้มาซึ่งนายกฯนั้น ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้มาจาก ส.ส. เพียงแต่ให้เลือกจากรัฐสภา ฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ ส.ส.รวมหัวกัน หรือผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซง เพื่อกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้ ขณะเดียวกัน ขอให้ลดอำนาจของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมด เพราะมีมากเกินไปจนครอบงำนายกฯ ส.ส. ครม. ฝ่ายบริหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน ทั้งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ควรกำหนดให้มีอำนาจแค่กลั่นกรอง ไม่ใช่ให้คุณให้โทษ มิฉะนั้น ต่อไปนักการเมืองก็จะหันไปเอาใจ ส.ว.แทน ก็จะเกิดปัญหาใหม่ตามมาอีก

เผยนายกฯห่วงคนไม่เข้าใจปฏิรูป

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯมีความเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องความไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาประเทศ ไทยไม่ค่อยมีการปฏิรูปในทุกรูปแบบ ทั้งระบบภาษี การจัดระเบียบสังคมหรือแม้แต่ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การปฏิรูปทุกอย่างย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย ถ้าสังคมเข้าใจว่าการปฏิรูปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็น่าจะคลี่คลายมากขึ้น อย่างกรณีเรื่องของภาษีบ้านมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลถังแตกจึงพยายามที่จะรีดภาษีจากประชาชนซึ่งมันไม่ใช่ ทุกอย่างที่รัฐบาลทำนั้นเพื่ออนาคต สมมติว่าได้ข้อยุติธรรมและประกาศใช้แล้วกว่าจะมีผลบังคับใช้ก็ประมาณปี 2560 รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้นำเงินมาใช้เองเป็นเพียงการวางระบบไว้

“วิษณุ” ชง 3 อย่างปฏิรูปยุติธรรม

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทยว่า กระบวนการยุติธรรมถือเป็นวาระแห่งชาติ ทันทีที่ 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน คือความขัดแย้ง คนจะนึกถึงกระบวนการยุติธรรมอันดับแรก 2.ศักยภาพหรือขีดความสามารถประเทศ เป็นตัวจูงใจให้ต่างประเทศยอมรับกระบวนการยุติธรรม และ 3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องโดดเด่น แต่เอาเข้าจริงกระบวนการยุติธรรมไปไม่รอด ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะกระบวนการยุติธรรมล่าช้า สิ่งสำคัญคือ 1.ต้องทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมมีคุณธรรมและความสามารถ 2.จัดอำนวยการความสะดวกเข้าถึงในกระบวนยุติธรรม ถ้าคนด้อยโอกาสยังเข้าถึงยาก กระบวนการยุติธรรมยังล้มเหลว และ 3. สร้างความเชื่อมั่นไว้ใจให้เกิดในกระบวนการยุติธรรม

“บิ๊กตู่” สั่งเบรกภาษีที่ดิน-บ้าน

อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เป็นประธานการจัดประชุมร่วมระหว่างประธานและฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดต่างๆ 5 คณะ อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.)โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง จากนั้น 15.45 น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมระหว่างที่ปลัดกระทรวงการคลังได้รายงานถึงแนวทางปฏิรูปภาษีซึ่งมีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อรายงานเสร็จนายกฯขอให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมในระยะยาว ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อ ประชาชน เพราะเวลานี้เศรษฐกิจยังมีปัญหา ยังไม่ค่อย พร้อม และเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี สังคมยังไม่พร้อม ยังมีข้อที่ไม่เห็นด้วยกันอยู่

ชะลอไม่มีกำหนดจนกว่า ศก.จะฟื้น

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า นายกฯคิดว่าอาจเป็นภาระกับประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงให้ไปศึกษาแนวทางเพื่อให้สิ่งที่จะดำเนินการต้องไม่กระทบกับประชาชนในอนาคต ส่วนจะชะลอออกไปนานหรือไม่คงต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมต่อไป คงไม่เกี่ยวกับกระแสการกดดันของสังคม เรื่องนี้เป็นการหารือภายใน แต่พอเป็นข่าวออกมาทำให้หลายฝ่ายกังวล แต่จริงๆมันอยู่ในช่วงหารือ ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้น เพื่อความชัดเจนท่านจึงให้ชะลอเรื่องนี้ก่อน เมื่อถามว่าที่บอกว่าจะมีการออกกฎหมายในอีก 2 ปี ก็ถือว่าต้องชะลอก่อนหรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ใช่ครับ ต้องชะลอไปก่อน และที่มีข่าวว่าจะนำเข้า ครม.เศรษฐกิจก็จะยังไม่มี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ศึกษาเรื่องภาษีโดยรวมอยู่แล้วเพื่อปฏิรูปภาษีให้เหมาะสมต่อไป รวมทั้งให้ไปดูต่างประเทศเป็นแนวทางด้วย

“ลุงหมาย” บอก “ก็ดีเหมือนกัน”

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอ แต่ไม่ได้สั่งให้กระทรวงการคลังหยุดหรือยุติ ดังนั้น ในช่วงระหว่างนี้ กระทรวงการคลังก็จะศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมกับชี้แจงประชาชนและนักลงทุนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะระหว่างนี้ กระทรวงการคลังก็มีงานเยอะอยู่แล้ว เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ไม่ดี เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คิดเป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งในอีก 2 สัปดาห์ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในเรื่องของการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนและมาตรการใหม่ๆ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอท่านรู้สึกอย่างไร นายสมหมายกล่าวว่า ปกติตนเป็นคนแข็ง แต่ก็มีความยืดหยุ่นในตัวเองด้วย และพร้อมที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สถาบันการศึกษานำไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเป็นการระดมความคิดและช่วยภาครัฐพิจารณาความเหมาะสมของอัตราภาษี

“วิษณุ” อ้างแค่โยนหินถามทาง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่เป็นแม้กระทั่งวุ้นเลยตอนนี้ ยังไม่เสร็จจากกระทรวงการคลัง ยังไม่เข้าที่ประชุม ครม. ยังไม่ไปที่ สนช. ยังไม่ไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเลย ฉะนั้นไม่มีใครรู้ใครเห็นอะไรทั้งสิ้น ข่าวที่ออกมาที่ไม่ได้ปกปิด คิดว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังคงจะโยนหินถามทาง พอโยนไปคงโดนหินเขวี้ยงกลับมาแล้ว เขาก็ต้องไปคิดปรับปรุงใหม่ แล้วมาเสนอ ครม. แล้ว ครม.จะมีข้อเสนอแนะอะไรอีก ก่อนจะไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และไป สนช. ยังอีกหลายเดือน

พท.บี้เก็บภาษีบ้าน คสช.ในค่ายทหาร

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องแคร์ประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจะไม่ขูดเลือดจากประชาชน แต่จะใช้วิธีอื่นหาเงินเข้ารัฐ พูดง่ายๆว่าเราหาเงินเป็นและใช้เงินเป็น เพราะมีสมองในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ ต่างจากรัฐบาลและ คสช.ที่รู้จักเฉพาะการจ่ายงบประมาณและบริหารประเทศแบบรูทีน ทั้งนี้ ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลนี้จะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยต้องเก็บภาษีบ้านคนรวยให้มาก โดยเฉพาะคนรวยอย่าง สนช. สปช.และ ครม.เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้เก็บภาษีบ้านและที่ดิน ส่วน คสช.ที่ส่วนใหญ่อาศัยบ้านหลวงอยู่แล้วจะเก็บภาษีได้ด้วยวิธีไหน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ต้องคิดหาวิธีการด้วย

“ไก่อู” จวก “ตู่” ไม่รู้การข่าวอย่าเจ๋อ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ปาระเบิดใส่หน้าศาลอาญากรณีที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าการข่าวมีการประกบกันมาตั้งแต่ต้น แต่กลับเกิดเหตุขึ้น ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถชี้ชัดได้ถูกต้องทั้งหมดว่าจะมีการก่อเหตุที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ แต่สามารถนำมาปะติดปะต่อพอให้กำหนดสมมติฐานครอบคลุมทิศทางที่จะไปถึง ดังนั้น ถ้านายจตุพรไม่เคยทำงานเรื่องนี้มาก่อน ก็อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ เมื่อสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในที่เกิดเหตุ ถือว่าเจ้าหน้าที่มีความสามารถมาก และจะขยายผล ถ้าพาดพิงถึงใคร ก็จะเชิญบุคคลนั้นมาสอบสวน ที่มีภาพถ่ายรวมกลุ่มและสมุดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ก็พอจะทำให้เชื่อมโยงได้ว่าอย่างน้อยผู้ต้องหามีความสนิทสนมกับใคร

ปั่นผลงานปราบค้ามนุษย์โชว์โลก

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของขั้นตอนการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิป รีพอร์ต ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของไทยส่งให้สหรัฐฯไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเพียงสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ยังติดขัดเรื่องขั้นตอน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่หลังจากการเดินทางเยือนและพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ก็มีความเข้าใจกันมากขึ้น และขณะนี้รัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชนและเอ็นจีโอ ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม เพื่อนำส่งครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ คณะทำงานมีความมุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ โดยหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ปัญหาเรื้อรังก็น่าจะดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แม้การขจัดปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ให้หมดไปไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รัฐบาลก็ตั้งเป้าที่จะปฏิรูปเรื่องดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ส่วนข้อกังวลของสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของขั้นตอนการดำเนินคดี ซึ่งศาลก็รับรู้ และเร่งดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอยู่แล้ว

“โต้กลับ” ร้องยุตินำพลเรือนขึ้นศาลทหาร


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.