ทรรศนะ2นักวิชาการ ′บิ๊กตู่′ นำปรองดอง-คุย′แม้ว′
 


ทรรศนะ2นักวิชาการ ′บิ๊กตู่′ นำปรองดอง-คุย′แม้ว′


 ทรรศนะ2นักวิชาการ ′บิ๊กตู่′ นำปรองดอง-คุย′แม้ว′



หมายเหตุ - นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้นำในการปรองดองและพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคู่ขัดแย้งอื่นๆ

 

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนจัดการเองในฐานะคนกลางที่จะเชิญคู่ขัดแย้งมา ก็มีประสบการณ์จากคราวที่แล้ว ก่อนทำรัฐประหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่กึ่งคนกลาง ในฐานะ ผบ.ทบ. ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกเพื่อกันไม่ให้เกิดการตีกันระหว่างม็อบทั้งสองฝ่าย

ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ตนเองเสียบทบาทคราวนั้นไป เพราะว่าพอคู่ขัดแย้งไม่สามารถจะตกลงกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้วิธีทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ

ฉะนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงบทบาทเป็นคนกลางอีกครั้งหนึ่ง คู่ขัดแย้งจะเชื่อใจหรือไม่ เป็นการพูดตามหลักตรรกะ ไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ว่าทำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าเคยทำแล้ว แต่ไปเปลี่ยนบทบาทกะทันหัน จากฐานะคนกลางเปลี่ยนเป็นฐานะผู้ยึดอำนาจไป


เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช - สุขุม นวลสกุล



เป็นข้อสังเกตว่าถ้าจะทำบทบาทนั้นอีกครั้ง ภาคีความขัดแย้งจะเชื่อใจไหม จะมาไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณมาคุย เชิญคู่ขัดแย้งคนอื่น หรือภาคีความขัดแย้งอื่นๆ มาคุย เขาจะเชื่อใจไหมว่ามาแล้วจะมาในฐานะผู้เจรจาหรือภาคีเจรจา ไม่ใช่มาแล้วจะถูกจับ

เรื่องคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติยังไม่ทราบรายละเอียด ทราบเพียงจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน กับคู่ขัดแย้ง 5 คน ต้องดูว่าอำนาจหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ต้องทำอะไร ผู้ทรงคุณวุฒิคือใคร ได้รับการยอมรับจากภาคีความขัดแย้งหรือไม่ และตัวแทนภาคีความขัดแย้งควรมีภาคีไหนบ้าง ทำไมต้องเป็น 5 คน ถ้าบอกว่าคู่ขัดแย้งมี 2 ฝ่าย แต่ภาคีความขัดแย้งมี 5 ภาคี ตัวเลขเหล่านี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานอะไร ถ้ามีเหตุมีผลที่อธิบายได้แล้วคู่ขัดแย้งหรือภาคีความขัดแย้งยอมรับได้ ก็โอเค

แล้วทำไมต้องเป็น 9 คน ตั้งมาแล้วภาคีความขัดแย้งจะยอมรับหรือเปล่า จะมีเรื่องสายสัมพันธ์หรือเปล่า สมมุติว่าคณะกรรมการมีองค์ประกอบที่น่าจะได้รับการยอมรับ เช่น แม้เขาจะเป็นผู้ฝักใฝ่ในฝ่ายที่ขัดแย้งกัน แต่คนที่ขัดแย้งคนอื่นยอมรับได้ ก็สามารถทำหน้าที่ได้ แต่ทำหน้าที่อะไร มีอะไรเยอะที่จะอธิบายคำว่าปรองดอง ตกลงแล้วกรรมการปรองดองหมายความว่าอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากในการที่จะวิเคราะห์ตอนนี้เพราะว่ารายละเอียดน้อยมาก

ระยะเวลาทำงาน 5 ปีนั้น ยังไม่รู้ว่าทำอะไร จะนานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับว่าทำอะไร ถ้าจะสร้างค่านิยมความปรองดองของเพื่อนมนุษย์อย่างนั้นก็ใช้เวลาเป็น 30 ปี แต่ถ้าร่างกฎหมายหนึ่งฉบับก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

 


สุขุม นวลสกุล

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ผมไม่ทราบว่าจะเป็นวิธีการไปสู่ความปรองดองที่เเท้จริงหรือไม่ เเต่ดูๆ ไปมันก็เป็นวิธีการที่เคยมีคนเรียกร้องเเละทำ ซึ่งมันก็ไม่ประสบความสำเร็จมาเเล้ว

หลายรัฐบาลก็เคยตั้งกรรมาธิการเเบบนี้ เช่น ให้ ดร.คณิต ณ นคร มานั่งประธาน เพื่อหาทางออก เเละเอาหลายๆ ฝ่ายมาร่วม ซึ่งมันก็ไม่เห็นจะเป็นที่ยอมรับ

ส่วนข้อเสนอเเนะของผมก็ยังเหมือนเดิม คือว่า ต้องรักษากฎหมาย ไม่ยอมให้เเต่ละฝ่ายใช้ความรุนเเรง เพราะที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีการละเมิดกฎหมายได้บางฝ่าย ก็ทำให้เกิดปัญหา ฉะนั้น รักษากฎหมายก่อน กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย

ถ้าจะเอา พล.อ.ประยุทธ์มานั่งเป็นประธานเรียกทุกฝ่ายมาร่วมเจรจา ผมว่าคนอื่นก็คงมาร่วมเพราะท่านมีอำนาจ เเต่ไม่เเน่ใจว่าคนจะยอมรับในบทบาทหรือไม่ คือ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเท่านั้น อย่างอื่นก็ไม่มีคุณสมบัติของนักประนีประนอมอะไรต่างๆ ผมเกรงว่าจะจัดประชุมได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะ เเต่ละฝ่ายดูเหมือนจะไม่ยอมอีกฝ่ายเลย อยากจะเอาชนะกันให้ได้ เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยพูดว่า ท่านเองก็รำคาญ

ดังนั้น การปรองดอง ต้องรักษากฎหมายก่อน



 

(ที่มา:มติชนรายวัน 17 ก.พ.2558)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.