จุฬาฯคว้าอันดับ1 มหาลัยไทยผู้นำผลงานวิจัยไปอ้างอิง
 


จุฬาฯคว้าอันดับ1 มหาลัยไทยผู้นำผลงานวิจัยไปอ้างอิง


จุฬาฯคว้าอันดับ1 มหาลัยไทยผู้นำผลงานวิจัยไปอ้างอิง
วันนี้( 4 ก.ย.) ศ. นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ จำนวน 4,851 สถาบันทั่วโลก ของ SCIMago Institutions Rankings ปี 2014 โดยการจัดอันดับดังกล่าวจะดูจากจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยของสถาบันนั้น ๆ ซึ่งในส่วนของจุฬาฯ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีผู้นำผลงานไปอ้างอิงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 479 ของโลก การจัดอันดับครั้งนี้นอกจากจุฬาฯแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับ ไม่เกิน 1,000 อันดับแรก ได้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 519 และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 878 ของโลก

“ ถือเป็นปีที่ 6 ที่ผลงานวิจัยของจุฬาฯ มีผู้นำไปอ้างอิงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ. จุฬาฯมีผลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นจากปี 2551 ที่มีเพียง 1,000 กว่าผลงาน มาเป็น 2,000 กว่าผลงาน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพยายามส่งเสริมให้นักวิชาการสร้างสรรค์งานวิจัยในทุกสาขา ทั้งด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่ที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คือ ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์นิยมนำผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ส่วนสายสังคม จะมีการตีพิมพ์น้อย เพราะนิยมเขียนให้ความรู้ในเชิงบทความมากกว่า ทางจุฬาฯ ก็พยายามส่งเสริมให้นักวิจัยสายสังคม มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมอยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมงบประมาณในเรื่องงานวิจัยให้มากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องการสอนอย่างเดียว แต่มีความจำเป็นต้องสะสมความรู้เพื่อพัฒนาในด้านต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนงานวิจัยเพียง 0.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกันประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปอาจจะกระทบต่อการพัฒนาในภาพรวม และที่ผ่านมาก็มีการให้งบสนับสนุนงานวิจัยหลายโครงการ อาทิ โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ แต่ก็ขาดช่วง ไม่เกิดความต่อเนื่อง หากสามารถเดินหน้าต่อได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ”ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ โดย SCImago Institutions Rankings แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ งานวิจัย นวัตกรรม และเว็บไซต์ สำหรับด้านงานวิจัย เป็นการจัดอันดับความสามารถในการผลิตและการเผยแพร่ผลงานวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus รวมถึงความเป็นผู้นำและการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ อาทิ จำนวนผลงานทั้งหมดที่เผยแพร่ในฐานข้อมูล Scopus สัดส่วนผลงานที่ตีพิมพ์ร่วมกับสถาบันต่างประเทศต่อผลงานทั้งหมด ค่าเฉลี่ยของการอ้างอิงผลงานวิชาการของสถาบัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการอ้างอิงผลงานของทั่วโลก อัตราส่วนของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก จำนวนผู้เขียนผลงานที่ได้รับการเผยแพร่ทั้งหมดของแต่ละสถาบัน เป็นต้น



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.