คร.แนะใช้ 5 หลัก 4 มาตรการ ลดอุบัติเหตุ สงกรานต์57
 


คร.แนะใช้ 5 หลัก 4 มาตรการ ลดอุบัติเหตุ สงกรานต์57


คร.แนะใช้ 5 หลัก 4 มาตรการ ลดอุบัติเหตุ สงกรานต์57

กรมควบคุมโรค แนะ 5 เสาหลัก 4 มาตรการ ช่วยลดอุบัติเหตช่วงเทศกาลสงกรานต์ เชื่อลดได้ 20% ขณะสาเหตุของอุบัติเหตุ ‘เมาแล้วขับ’ ยังอยู่อับดับที่ 1 ...

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.57 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการประชุม DDC Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง "ย้อนรอยอุบัติเหตุ...ลดตายสงกรานต์" ว่า คนส่วนใหญ่มักมองปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องปกติธรรมดาและไกลตัว แต่ที่จริงแล้วพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงมาก โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีละ 300 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 50 คน ทั้งนี้ วิธีป้องกันอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ คร.เสนอใช้ 5 เสาหลัก 4 มาตรการ ได้แก่ 1. การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2. ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3. ยานพาหนะปลอดภัย 4. ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ 5. การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งแต่ละเสาหลักจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เช่น กรมขนส่งทางบก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น

ส่วน 4 มาตรการ ได้แก่ 1. สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีฐานวิเคราะห์ข้อมูล หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ตนเอง 2. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 3. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประชาสัมพันธ์การห้ามขายสุราและสุ่มตรวจร้านค้าที่จำหน่ายสุราในช่วงเวลาและ สถานที่ห้ามขาย และ 4. การมีส่วนร่วมของชุมชน มีมาตรการลดอุบัติเหตุในชุมชน ซึ่งหากดำเนินการตามนี้คาดว่าจะสามารถลดการเสียชีวิตจากที่คาดการณ์ไว้ได้ 20% หรือมีผู้เสียชีวิตประมาณ 257 ราย

ด้าน นพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ ผอ.สำนักโรคไม่ติดต่อ คร. กล่าวว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุปีใหม่ 57 พบว่า 31 ธ.ค. 56 เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เกิดช่วงเวลา 17.00-21.00 น. มากที่สุด สาเหตุ คือ เมาแล้วขับ โดยรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ เกิดในถนนตามหมู่บ้านมากที่สุด ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุสงกรานต์ปี 2556 พบว่า วันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ วันที่ 13 เม.ย. เกิดช่วง 14.00-20.00 น. มากที่สุด สาเหตุเมาแล้วขับ เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุดเช่นกัน โดยกลุ่มอายุที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 15-25 ปี ดังนั้น หากสามารถคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีได้ ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งสถานที่ที่ยังมีปัญหาคือตามร้านขายของชำ ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น ก็เสนอให้ผู้นำชุมชนตั้งด่านตรวจ ซึ่งยืนยันว่าจะเป็นลักษณะป้องปราม ไม่มีการเก็บค่าปรับหากกระทำผิด เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.