เตือน ไข้เลือดออก 2 เดือนแรก! ป่วยกว่าพันราย ตายแล้ว 1
 


เตือน ไข้เลือดออก 2 เดือนแรก! ป่วยกว่าพันราย ตายแล้ว 1


เตือน ไข้เลือดออก 2 เดือนแรก! ป่วยกว่าพันราย ตายแล้ว 1

กระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ ชี้ช่วงอากาศเปลี่ยนฤดูจากหนาวสู่ร้อน ยุงลายจะชุกชุมขึ้น อาจทำให้ไข้เลือดออกระบาดอย่างรวดเร็ว เผยวัยรุ่นคือกลุ่มเสี่ยงถูกยุงกัด รอบเกือบ 2 เดือนแรก มีผู้ป่วยแล้ว 1,433 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย...

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 57 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น มีผลต่อการเพิ่มจำนวนยุง โดยเฉพาะยุงลายซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก เนื่องจากในช่วงที่อากาศหนาวเย็น และสภาพอากาศแห้ง มีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือดของยุงไม่ดี และไม่มีแรงบิน ออกไปหากินเลือดคน ยุงจะใช้ชีวิตแบบจำศีล จึงไม่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ แต่เมื่ออุณหภูมิสูง ขึ้นประมาณ 20 องศาเซลเซียส ระบบการไหลเวียนเลือดในยุงดีขึ้น ยุงลายจะรีบออกมากินเลือดคน อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อของโรคไข้เลือดออกได้ อย่างรวดเร็ว และหากมีฝนตกในช่วงนี้ จะเพิ่มแหล่งวางไข่ยุง ทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้นได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์กระตุ้นเตือนประชาชนให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยในปีที่ผ่านมา ทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

นายแพทย์ณรงค์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 นี้ ยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะไม่รุนแรงเช่นในปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ป่วย 152,768 ราย เสียชีวิต 132 ราย สูงสุดในรอบ 20 ปีอย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้ป่วยอาจสูงถึง 80,000-100,000 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.พ. 2557 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,433 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่น่าห่วงคือยังพบว่าประชาชนมีความเข้าใจที่ผิดว่า การควบคุมยุงลายเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเคยชินกับการมีลูกน้ำอยู่ในบ้าน หรือในภาชนะ เศษขยะในบริเวณบ้าน จึงไม่คิดจะลงมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยตนเอง จะรอให้เจ้าหน้าที่มาพ่นเคมีฆ่ายุงตามท่อระบายน้ำต่างๆ ตามแอ่งน้ำเสีย ซึ่งยุงที่อยู่ในแหล่งนี้เป็นยุงรำคาญที่กัดคนกลางคืน ไม่ใช่ยุงลาย ซึ่งจะต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ใหม่ว่า บ้านตนเอง ครอบครัวตนเอง คนในครอบครัวต้องเป็นคนดูแลเอง หรือที่เรียกว่า บ้านใครบ้านมัน

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก ที่พบส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 เกิดมาจากยุงลายกัดผู้ป่วย และที่เหลือเกิดจาก ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกอยู่แล้ว จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้ เลือดออกในปี 2556 พบว่า กลุ่มป่วยเป็นไข้เลือดออกมากที่สุดคือวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีคิดเป็นร้อยละ 29 รองลงมาคือในกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 21 กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีร้อยละ 14 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปีร้อยละ 13  ปีนี้วัยรุ่นก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก็เช่นกัน เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงจะโดนยุงลายกัดเพิ่มมากขึ้น ในปีนี้กรมควบคุมโรค จึงได้ตั้งเป้าหมายการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่สำคัญ 5 แห่ง หรือ 5 ร. คือ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/โรงงาน โรงธรรม วัด/มัสยิด/โบสถ์ และพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ เอสอาร์อาร์ที (SRRT) ทุกระดับ เพื่อลงควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีรายงานพบผู้ป่วยไข้เลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวเต็มวัยภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำใน 7 วัน  เพื่อไม่ให้ยุงหลงเหลืออยู่

“เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าสภาพของสังคมเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว มีบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์  คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่ตรวจพบแล้วคือวางไข่ในคอห่าน ซิงค์น้ำหรืออ่างล้างมือ ล้างหน้าทั่วๆ ไปได้ ฉะนั้นหากพบมียุงบินในบ้าน ให้รีบกำจัดยุงลาย โดยต้มน้ำให้เดือดและเทราดลงในซิงค์น้ำทุก 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่ยุง ขณะเดียวกันยังพบไข่ยุงลายในจานรองน้ำของเครื่องทำน้ำเย็นชนิดคว่ำถัง ซึ่งนิยมตามโรงเรียน โรงอาหารต่างๆ ไข่ยุงลายยังอึด สามารถทนน้ำเย็น ทนหิมะได้เป็นเวลานานไข่จะสลบชั่วคราว หากอุณหภูมิเปลี่ยน จะกลายเป็นตัวยุงได้เช่นกัน” นายแพทย์โสภณกล่าว

ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ป่วย โดยให้ประชาชนทุกคนทุกครัวเรือน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง หากป่วยมีอาการไข้สูงลอยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก กินยาพาราเซตามอลลดไข้แล้ว ไข้ยังไม่ลด ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกซึ่งต่างจากการเป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง หรือเป็นทั้ง 2 โรคร่วมกัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง โทร. 0-2590-3104-05 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.